สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ Office of The National Broadcasting and Telecommunications Commission
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยโครงงานด้วยฐานวิจัย เมื่อวันที่ 9 และ 10 ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุมใหญ่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สมส.ม.อ.) จัดกิจกรรมเวทีนำเสนอความก้าวหน้าโครงงานฐานวิจัย ปี 2563 ภายใต้โครงการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อสนับสนุนการสอนวิชาโครงงานด้วยฐานวิจัยบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โครงการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อสนับสนุนการสอนวิชาโครงงานด้วยฐานวิจัยบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหนึ่งในกิจกรรมด้านการพัฒนาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินงานในชื่อโครงการคิดดี-คิดเป็น ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โดยดำเนินการในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันดำเนินการเป็นปีที่ 2 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 22 โรงเรียน โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ และรองศาสตราจารย์ ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ให้การสนับสนุนและผลักดันเพื่อพัฒนางานด้านการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวนี้เป็นต้นแบบใหม่ด้านการศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนาในเขตพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบออนไลน์สนับสนุนการเรียนรู้ของครูเพื่อสร้างความยั่งยืนในการจัดการเรียนการสอน รองศาสตราจารย์ไพโรจน์ คีรีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงงานฐานวิจัย กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครการจะได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานฐานวิจัย เป็นกระบวนการทำงานเพื่อสร้างความรู้และนวัตกรรม ผ่านการคิดแบบสร้างสรรค์โดยใช้ปัญหาในชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้และสร้างความรู้ใหม่ เมื่อนำโครงงานฐานวิจัยมาสอนบูรณาการกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นกระบวนการคิดแบบรอบคอบ นำไปสู่การมีเหตุผล การเห็นความพอดีในการกระทำ และมองเห็นความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ จึงทำให้การสอนแบบนี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าการสอนเดี่ยว นักเรียนที่ผ่านการเรียนแบบนี้จะมีหลักยึดในการดำรงชีวิต และจะกลายเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองจากการมีหลักในการคิดและดำเนินชีวิต โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการประการแรกคือ เพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้และการสอน การพัฒนาทักษะครู ให้มีทักษะการสอนโครงงานฐานวิจัยผนวกแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประการที่สอง คือ เพื่อการพัฒนาคุณภาพทักษะในการเรียนรู้ของนักเรียน ให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ โดยนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการทำโครงงานฐานวิจัย พัฒนาการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ ประการที่สาม คือ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในจังหวัดชายแดนใต้ โดยการนำมาประยุกต์ใช้กับคน โรงเรียน และชุมชน และ ประการที่เพื่อการสร้างภาคีในการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีส่วนราชการในพื้นที่ร่วมประสานขับเคลื่อน เช่น สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมีมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม กระทรวงศึกษาธิการที่เป็นแม่ข่ายพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นเวทีนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินโครงการที่ได้ดำเนินการผ่านมาตลอด 1 ภาคการศึกษา โดยนำเสนอวันละ 11 โรงเรียน รวม 22 โรงเรียน และได้รับเกียรติจาก นายวิทยาศิลป์ สะอา ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา เป็นประธานในพิธีเปิด และได้กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า “นับเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจอย่างยิ่ง ที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ได้ให้ความสำคัญ มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ และได้ดำเนินงานด้วยความตั้งใจของผู้บริหาร ครูผู้สอน เพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะในการคิดและแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะทางสังคม ภาวะผู้นำ และมีคุณธรรม ผ่านห้องเรียนฐานวิจัย อย่างน้อยหนึ่งห้องเรียนต่อโรงเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะการสื่อสาร การเสริมสร้างความรู้ทางวิชาการการคิดแบบสร้างสรรค์ ผ่านรูปแบบการนำเสนอบนเวที และโปสเตอร์นิทรรศการ รวมทั้งนักเรียนได้ขยายมุมมองในการสร้างนวัตกรรมผ่านผลงานของโรงเรียนอื่น” ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะเป็นการดำเนินโครงการ อย่างต่อเนื่อง ในภาคเรียนที่ 2 ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะต้องจัดทำแผนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ โดยมีทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยเป็นทีมพี่เลี้ยงโรงเรียน และนำกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนต่อไป ______________________________________ ชมภาพกิจกรรมและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ https://psu2rbl.in.th/dashboard/ Cr. FB คิดดี-คิดเป็น ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=397651921572062&id=106992447304679